วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเทศไทยกับรายงานความสุขโลก

สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ
ทุกครั้งที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ ผมจะรู้สึกเสมอในความโชคดีของคนไทยที่มี ระบบสุขภาพเข้มแข็ง เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติ เรามีหลักประกันสุขภาพป้องกันประชาชนล้มละลาย มีบุคลากรและจิตอาสาดูแลทุกข์สุข มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ไม่เป็นรองประเทศใด เราพยายามมองหาจุดปรับปรุงและเติมเต็มตลอดเวลา เพื่อเพิ่มคุณภาพและความครอบคลุมของกำลังคน ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และข่าวสารข้อมูล
หลายท่านคงเคยได้ยิน รายงานความสุขโลก ที่องค์การสหประชาชาติสนับสนุนนับแต่ปี 2012 นะครับ ท่านคงไม่แปลกใจที่เดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ติดลำดับต้นๆ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าในรายงานล่าสุดปี 2015 ที่ประมวลข้อมูลปี 2012-2014 เม็กซิโกซึ่งอยู่ลำดับ 14 นำอเมริกา (15) ส่วนบราซิลในลำดับ 16 ก็นำลักเซมเบิร์ก (17) ขณะที่เวเนซูเอลาในลำดับ 23 ก็นำสิงคโปร์ (24)

ไทยอยู่ลำดับ 34 ของโลก และลำดับ 2 ของเอเชีย นำไต้หวัน (38) ญี่ปุ่น (46) เกาหลีใต้ (47)

เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดครับ ผู้วิจัยพบว่านอกจากรายได้แล้ว ความพึงใจในชีวิตยังอธิบายด้วย จำนวนปีสุขภาพดี การมีคนช่วยเหลือยามต้องการ การมีอิสระที่จะเลือก และการปลอดคอร์รัปชัน
สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน และธรรมาภิบาล สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยครับ
เศรษฐกิจและสังคมจึงต้องพัฒนาควบคู่กันไป แต่แม้ในยามภัยพิบัติหรือวิกฤติเศรษฐกิจ ความทุกข์และความเหลื่อมล้ำในความรู้สึกนึกคิดก็ยังบรรเทาเบาบางได้ ตราบใดที่สังคมเข้มแข็ง ทุกคนมีความเอื้ออาทร มีเพื่อนบ้านดี มีอาชีพการงานมั่นคง มีที่ดินทำกิน รู้สึกปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และมีความเสมอภาคทางเพศ การศึกษา สุขภาพ

ทุกภาคส่วนและองค์กรมีส่วนช่วยคนละไม้คนละมือในการทำให้สังคมน่าอยู่ได้ครับ สำหรับภาคส่วนสุขภาพ เราก็หวังว่าทีมหมอครอบครัว ซึ่งทำงานเชิงรุกไปทุกหย่อมหญ้า จะเป็นตัวดึงศักยภาพชุมชนและประชาสังคม มาร่วมเรียนรู้ สร้างสรรค์ ตัดสินใจ ประกอบสัมมากิจ เพื่อให้คนไทย คนไร้รัฐ แรงงานต่างด้าว ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ ชาวเกาะที่อยู่ห่างไกล ไม่ถูกทอดทิ้ง มีทักษะดูแลตัวเอง ได้รับการรักษาทันท่วงทีจนแคล้วคลาดจากทุพพลภาพ ได้เสียชีวิตอย่างสงบ

เพียงการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยการจับมือจากทุกอาชีพ ก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เมื่อใดช่องว่างความไม่เท่าเทียมนี้หดสั้นจนทุกคนสัมผัสได้ ผมก็เชื่อว่า ประเทศไทยจะขยับขึ้นสู่ลำดับต้นๆ ของรายงานความสุขโลกอย่างแน่นอน
ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ


วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

"เมืองสุขภาพดีวิถีชุมชน" เชิญร่วมดำรงวิถีแห่งไทยใส่ใจสุขภาพตัวเรา



สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

               ตามที่ท่านทราบดี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้มีพื้นที่เสนอขายสินค้า สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และส่งเสริมความเป็นไทย


               เสียงตอบรับดีเยี่ยมทำให้รัฐบาลตัดสินใจต่อยอดการดำเนินการตลาดน้ำกลางกรุงเทพมหานครนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคม เพื่อสนับสนุนการซื้อขายสินค้าไทยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ

               แต่ละเดือนจึงมีการนำเสนอสินค้าตามหัวข้อเน้นของเดือนนั้น สำหรับช่วง 7-26 กรกฎาคมนี้ก็เป็นคิวของกระทรวงสาธารณสุขที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านตามหัวข้อ “เมืองสุขภาพดีวิถีชุมชน” ผมจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้


               หลายคนที่คลางแคลงใจในสรรพคุณของสมุนไพรคงลืมนึกไปว่า ยาแผนปัจจุบันหลายชนิด อาทิ แอสไพริน ดิจิตาลิส มอร์ฟีน ควินิน อาร์ทิมิซินิน ก็มีต้นกำเนิดจากสมุนไพร สมุนไพรหลายชนิด อาทิ อัญชัน บัวบก มะขาม ขิง ปัญจขันธ์ ดีปลี มะแว้ง ฟ้าทะลายโจร มะระขี้นก กฤษณา เกสรบัวหลวง จึงมีประโยชน์จริง เพียงแต่สมุนไพรก็เหมือนยา คือมีอันตรายหากบริโภคเกินพอดี บางชนิดทำอันตรกิริยากับยา สารอาหาร และสมุนไพรอื่นที่บริโภคร่วม

               ในอนาคตเราจึงจำเป็นต้องศึกษากลไกการออกฤทธิ์ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ปริมาณที่ควรบริโภคให้ครบถ้วน วางมาตรการควบคุมการผลิตและเวชปฏิบัติให้ได้มาตรฐาน พร้อมไปกับการสร้างค่านิยมและบรรจุองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงนี้ในการศึกษาสายสุขภาพครับ


               สำหรับการแพทย์ทางเลือกแขนงอื่นอาทิ ฝังเข็ม กดจุด นวดไทย ฤาษีดัดตน ฝึกลมปราณ สะกดจิต พลังสัมผัส อายุรเวทนั้น บางศาสตร์อาจมีกลไกที่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด หรือตั้งอยู่บนทฤษฎีที่มุมมองของนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันยากจะอธิบายได้ แต่ผู้เคยทดลองต่างก็ยอมรับว่าช่วยลดอาการปวด กล้ามเนื้อตึงนอนไม่หลับ เวียนศีรษะ ใจเต้นได้ฉมังเมื่อใช้ร่วมกับยา โดยบางกรณีก็ช่วยลดหรือหยุดยาที่ใช้ประจำได้

               การแพทย์ทางเลือกจึงไม่ได้มีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อทดแทการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่มีบทบาทในการเสริมเติมส่วนที่ขาดของการแพทย์แผนปัจจุบันให้สมบูรณ์ การทำงานจึงเป็นลักษณะผสมผสานร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ในรูปของการแพทย์บูรณาการที่ย้ำเน้นการมองสุขภาพกาย-ใจเป็นหนึ่งเดียว และการมองปัญหาแบบองค์รวม

               หากใช้อย่างถูกวิธี การแพทย์ทางเลือกย่อมส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการลดปริมาณยา ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในการสร้างรายได้ ส่งผลดีต่อระบบสุขภาพในการลดค่ารักษาพยาบาล และส่งผลดีต่อประเทศในการดำรงวิถีไทย

               ผมจึงขอเชิญชวนท่านและญาติมิตรไปสัมผัสภูมิปัญญาการรักษาที่สั่งสมมาช้านานที่ตลาดผดุงกรุงเกษมระหว่างวันที่ 7-26 กรกฎาคมนี้ และ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ


วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประสบการณ์จากสถานการณ์โรคติดเชื้อที่แพร่ระบาด



สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ



          ความคืบหน้าการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome—MERS) ในไทยล่าสุด ผู้ป่วยยืนยันยังอยู่ที่ 1 รายครับ อาการดีขึ้นแล้ว เรายังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในกลุ่มผู้สัมผัส กระนั้นก็ยังชะล่าใจไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ชาวไทยนับถือศาสนาอิสลามจะไปร่วมพิธีอุมเลาะห์และฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย แต่เราก็วางมาตรการเฝ้าระวังไว้แล้ว

          ผมลองสะท้อนย้อนคิด โดยอาศัยประสบการณ์การติดตามความพร้อมในการรับมือช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วมกับการติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้ออื่นๆ ที่แพร่ระบาดในอดีต อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่ พอจะประมวลเป็นข้อคิดที่อยากฝากไว้สั้นๆ ณ ที่นี้ครับ
          1.การสกัดการแพร่ระบาด ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งในและนอกประเทศ สำคัญเหนืออื่นใดคือการสร้างปราการการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง ตั้งแต่สายการบินจากประเทศที่มีการระบาด การเฝ้าระวังที่สนามบิน ท่าเรือ และด่านต่างๆ การสร้างความพร้อมของโรงพยาบาลในการจัดให้มีห้องแยก การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของบุคลากรในการสวมใส่ชุดป้องกันโรค


          2.การบริหารความเสี่ยง ต้องประเมินอย่างมีสติและหลักการ สื่อสารได้ชัด ไว ทั่วถึงกลุ่มประชากรสำคัญ และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดึงผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเสมอ
          3.การเฝ้าระวังและติดตาม ต้องเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่กระจายโดยเร็ว ห้องปฏิบัติการต้องมีความแม่นยำ นักระบาดวิทยาและนักสาธารณสุขต้องมีฝีมือในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล วางระบบแจ้งเตือน ระบบลำเลียง และระบบสาธารณูปโภค จิตอาสาต้องมีเพียงพอต่อการเสริมทัพ


          4.การซ้อมแผน เสริมสมรรถภาพ สร้างกำลังคน ต้องทำสม่ำเสมอเพื่อหาจุดปรับปรุง ทั้งยังต้องพร้อมออกปฏิบัติการ และขยายกองกำลังเมื่อจำเป็น
          5.ระบบสุขภาพ ต้องแข็งแกร่งทั้งในด้านกำลังคน กำลังเงิน กำลังทรัพยากร ระบบบริการปฐมภูมิต้องเข้มแข็ง การดูแลผู้ป่วยวิกฤติต้องได้มาตรฐานสากล พร้อมสรรพด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่จำเป็นหลายจุดเราทำได้ดีแล้ว แต่หลายจุดเราต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือต่อสภาวการณ์ปัจจุบันที่คนและสัตว์ป่ามีถิ่นฐานใกล้ชิดมากขึ้น โรคติดเชื้อแพร่กระจายข้ามซีกโลกใน 1 วัน ขณะที่ข่าวสารทั้งจริงและเท็จก็แพร่กระจายสู่ทุกมุมโลกในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง


          ผมขอชื่นชม และให้กำลังใจชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ ที่มีส่วนร่วมในการควบคุมการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประสานงานกันเป็นอย่างดี ผมทราบว่าทุกท่านเสียสละทำงานหนัก และมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคด้วย แต่เราต้องช่วยกันเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย ป้องกันการแพร่กระจาย และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความมั่นคงของชาติด้วยครับ ผมขอขอบคุณทุกท่านจากใจครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ




วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน


สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

จุดประสงค์ของการมี FCT (Family Care Team) คือการสร้างกลไกสัมผัสชุมชน เพิ่มการเข้าถึงของคนในชุมชนต่อบริการสุขภาพและดูแลเบื้องต้นในทุกภาวะโรคอย่างต่อเนื่อง เราโชคดีที่ในช่วงขวบปีแรกของการวางรากฐาน FCT ให้เป็นสะพานเชื่อมชุมชนสู่ระบบสุขภาพนั้น เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เพราะบริการปฐมภูมิของไทยได้วางรากฐานมาช้านาน ทั้งยังมีลักษณะเด่นที่น่าชื่นชม คือ มีจิตอาสาเป็นกำลังสำคัญแต่เราก็อยากเริ่มแบบช้าๆ ทว่ามั่นคง จึงเลือกให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่ควรใส่ใจเป็นลำดับต้นก่อนครับนั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุ


ดังที่ทราบกันดีครับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 แล้ว กล่าวคือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ต่อประชากรทั้งประเทศเกินร้อยละ 10 แต่ก็มีข้อน่ากังวล คือ อัตราการพึ่งพิงในวัยสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา อยู่ตามลำพัง และมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม พิการ และติดเตียง
ภารกิจเร่งด่วนจึงเป็นการจัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียงโดยฝึกอบรมผู้จัดการดูแล ผู้ดูแล ร่วมกับจัด FCT ออกตรวจเยี่ยมมุ่งหวังคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล


แต่การเตรียมแค่นั้นคงไม่พอครับ เพราะจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2557 ที่พบสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 15 และคาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งตามนิยามของสหประชาชาติถือเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เราคงต้องเตรียมความพร้อมมากกว่านี้
สมัยก่อนคนตะวันตกก็นิยมเลี้ยงดูคนเฒ่าคนแก่เอง แบบเดียวกับบ้านเราเมื่อไม่นานนี้ ตราบจนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่างคนต่างต้องออกไปทำมาหากิน วิถีดังกล่าวจึงเปลี่ยนไปในช่วงเวลานี้ที่ดัชนีผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก การดำเนินวิถีชีวิตในสังคมไทยจึงมีแนวโน้มค่อนไปทางสังคมตะวันตกมากขึ้น การดูแลโดยครอบครัวคงไม่ใช่รูปแบบเดียว แต่ต้องมีการดูแลโดยสถาบันและชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
กระนั้น เมื่อเหลียวมองรอบตัวขณะนี้เราจะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้สร้าง หรือวางแผน โดยมีผู้สูงอายุในวิสัยทัศน์เท่าที่ควรการศึกษาปัจจุบันก็มุ่งสอนทักษะสำหรับคนวัยทำงาน สวนสาธารณะในเมืองก็มีน้อยกว่าตึกระฟ้าถนนหนทางก็ไม่อำนวยความสะดวกต่อผู้ที่จะผละจากการขับรถมาเดินเท้า ระบบขนส่งมวลชนก็ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคตมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี ประกอบกิจการงานที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงในชีวิตจึงต้องรีบลงมือแต่บัดนี้ และไม่อาจทำสำเร็จโดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงลำพังด้วยครับแต่ต้องอาศัยการผนึกกำลังของหลายองค์กรทีเดียว
จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาดไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแรงงานจับมือร่วมกันในโครงการ รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจ ห่วงใยผู้สูงอายุนำร่องพัฒนารูปแบบในพื้นที่ 155 ตำบลใน 76 จังหวัด ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ผมเชื่อว่าภาพที่หลายคนพึงปรารถนาคงไม่ใช่ภาพผู้สูงอายุที่สุขภาพย่ำแย่ ประกอบกิจวัตรลำบากเอาแต่นั่งเฉย นอนเฉย ปล่อยให้เวลาล่วงเลย แต่เป็นภาพผู้สูงอายุที่ยังทำงานประจำ หรืองานอดิเรกที่ตัวเองรัก หยิบจับกิจกรรมที่อยากทำแต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน
เราอยากเห็นผู้สูงอายุที่สมองยังฉับไว กระฉับกระเฉง กำลังวังชายังปราดเปรียว มีเงินหล่อเลี้ยงกายใจตามอัตภาพ ผลิตงานเล็กงานใหญ่สู่สังคม

ผู้สูงอายุหลายคนมีทุนสังคมทุนปัญญามหาศาล พวกเขามีส่วนสำคัญในการชี้แนะ สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังได้ไม่น้อย
คงน่าเสียดายที่เราจะละเลยทุนมีค่านี้ให้ฝ่อลีบไป

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

FCT สะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ




สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ทีมหมอครอบครัว ซึ่งต่อจากนี้ผมขอเรียก FCT (Family Care Team) นะครับ เนื่องจากติดปากใครหลายคนแล้ว ถือเป็นสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ผ่านบริการปฐมภูมิที่กำลังทวีความสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันครับ ว่าบริการปฐมภูมิคือเสาหลักของการดูแลสุขภาวะประชาชนในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ FCT ในลักษณะที่เราดำเนินการก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าช่วยลดช่องว่างเชิงภูมิศาสตร์และเชิงสัมพันธภาพระหว่างประชาชนและผู้ดูแล ทั้งยังช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันและร่วมมือจริงจังในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ปัญหาสุขภาวะ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน อุบัติเหตุ ตั้งครรภ์วัยรุ่น อุบัติเหตุการจราจร สามารถป้องกันหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากทุกคนในชุมชนได้รับความรู้และเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การจัดสภาพแวดล้อมของสังคมที่เอื้อต่อสวัสดิภาพและปลอดอบายมุข
ยิ่งขณะนี้ที่เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเชิงประชากรศาสตร์ กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และเปลี่ยนผ่านเชิงระบาดวิทยา กล่าวคือ คนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีมากขึ้น ทั้งยังเจอภาวะทุพพลภาพหลากหลายในคนเดียว การป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ เรื่อยไปถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่อาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่าย ยิ่งมีความจำเป็น
ผมจึงขอชื่นชมพี่น้องชาวสาธารณสุขในทุกเขตที่ร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาได้ครอบคลุม โดยตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยกำหนดที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังจากภายในและภายนอกกระทรวง
หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมการดำเนินงานของ FCT ในหลายเขตสุขภาพมาแล้ว ผมขอชื่นชมพี่น้องทุกพื้นที่ที่สรรหาวิธีดำเนินการที่หลากหลายด้วยครับ บ้างนำเทคโนโลยีสื่อสารผ่านมือถือ เช่น LINE application มาใช้เพื่อความรวดเร็วและการเข้าถึงคนบางกลุ่ม อาทิ เด็กวัยรุ่น บ้างจัดหาพาหนะพิเศษเพื่อเข้าถึงจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร บ้างจัดตั้งธนาคารวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ร่วมกัน บ้างได้ผู้มีบารมีและเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน อาทิ โต๊ะอิหม่าม เจ้าอาวาสนำทีมเยี่ยมบ้าน


พื้นที่ที่มีความพิเศษก็คิดหารูปแบบพิเศษเพื่อให้การดูแลครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย อาทิ สร้างสุขศาลาในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ผลิตอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวเพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว จัดคลินิกลอยน้ำเพื่อดูแลสุขภาพชาวประมง
หลายพื้นที่พยายามวางระบบเชื่อมประสานให้ไร้รอยต่อระหว่างบ้านกับสถานบริการ ทั้งในยามส่งผู้ป่วยสู่สถานบริการระดับสูงขึ้นไป และยามจำหน่ายผู้ป่วยกลับคืนสู่ระบบการดูแลในชุมชน หรือแม้แต่จัดแพทย์เฉพาะทางมาตรวจรักษาในจุดที่การเดินทางเข้าเมืองมีความลำบาก รวมถึงให้คำแนะนำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์


ผมว่าคงจะดีไม่น้อยนะครับ หากเราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เพื่อปรับกลไกการทำงานให้ปราดเปรียว ยืดหยุ่น ทันสมัย เป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบริการปฐมภูมิและ FCT นี้




เรายังมีอีกหลายประเด็นคำถามทีเดียวครับ ในการพัฒนาบริการปฐมภูมิและFCT ให้ดียิ่งขึ้น อาทิ
§ องค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ของ FCT ที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร เจ้าหน้าที่ควรมีทักษะจำเป็นอะไรบ้างสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม อันจะช่วยให้บุคลากรมีความสุขกับงานควรมีอะไรบ้าง
§ การทำหน้าที่ gatekeeper หรือนายทวาร ช่วยลดการรอคอยของผู้ป่วยและส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเพียงไร
§ การดูแลรูปแบบไหนลดอัตราการส่งต่อผู้ป่วย ระบบส่งต่อผู้ป่วยทั้งแบบปกติและฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพควรมีรูปแบบใดบ้าง
§ การจัดสรรเงินรูปแบบไหนช่วยให้การทำงานคล่องตัวแต่ละรูปแบบมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความเสมอภาคของบริการอย่างไร
อนึ่ง เมื่อนึกถึง FCT ภาพที่วาบเข้ามาในมโนทัศน์ของหลายท่านคงเป็นภาพ FCT ในชนบทและชุมชนเมืองตามต่างจังหวัดใช่ไหมครับ แท้ที่จริงแล้วFCT ปรากฏในมหานครด้วย รูปลักษณ์และความท้าทายของการบริหารจัดการFCT ในนครใหญ่มีความเหมือนและต่างจาก FCT ในชนบทอย่างไรผมจะกล่าวถึงในโอกาสเหมาะสมต่อไปครับ


ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทีมหมอครอบครัว : หมอใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ


สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ผมจะกล่าวถึงทีมหมอครอบครัวครับ
ดังที่ได้เรียนไว้ในการสื่อสารครั้งแรกว่า ผมมีจุดประสงค์สำคัญในการไปเยี่ยมพี่น้องในเขตสุขภาพ จุดประสงค์แรก คือ เพื่อสำรวจสถานการณ์สุขภาพของชาวบ้าน และรับฟังปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว
จุดประสงค์สำคัญที่สอง คือ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งมีอยู่มากมาย และนำมาขยายผลเป็นต้นแบบได้ ทั้งยังเป็นการแสดงความยินดีต่อผลงาน ให้ความสนับสนุนและกำลังใจแก่ชาวสาธารณสุขที่ทำงานทุ่มเทแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย
จากการลงพื้นที่ตั้งแต่ปลายตุลาคมที่ผ่านมา และพบภาวะเตียงล้นในหอผู้ป่วยใน พบความแออัดในหอผู้ป่วยนอก ทั้งยังพบว่าในหลายกรณีโรคเหล่านี้สามารถตรวจรักษาได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน หรือเป็นภาวะที่ป้องกันได้ เช่น อุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น ผมจึงมั่นใจครับว่า ทีมหมอครอบครัวน่าจะมีบทบาทแก้ไขภาวะเหล่านี้



ความจริงแล้ว ภาวะแออัดในหอผู้ป่วยในและหอผู้ป่วยนอกเป็นเรื่องที่เราเจอมาตลอดนะครับ และเราก็มีวิธีจัดการค่อนข้างหลากหลายทีเดียว
การสร้างอาคารเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ทวีจำนวนเรื่อยๆ เป็นทางออกที่สถานพยาบาลหลายแห่งดำเนินการ ขณะที่บางแห่งก็ใช้วิธีบริหารจัดการเตียง เช่น การมีมาตรการรับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็น การลดจำนวนวันนอนที่เกินจำเป็น และการจัดตั้งหน่วยบริการแถบชานเมืองไว้รองรับผู้ป่วยระยะฟื้นตัว หรือรอตรวจพิเศษ
หลายแห่งยังหาวิธีแก้ไขอื่นร่วม อาทิ การหมุนเวียนแพทย์เฉพาะทางไปให้บริการที่ รพช. หรือการจัด CUP หรือ CUP Split ให้บริการเชิงรับแก่ประชาชนตามมุมเมือง และให้บริการเชิงรุกถึงครัวเรือน ในด้านรักษา ส่งเสริม ป้องกัน เป็นต้น
จากตัวอย่างท้ายสุดนี้ ท่านจะเห็นว่าแนวคิดการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงไปให้บริการถึงครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย และความที่ผมเองก็ให้ความสำคัญต่อการขยายผลโครงการเดิมที่มีประโยชน์ เท่าๆ กับการริเริ่มแผนงานใหม่ในช่วงเวลาอันสั้นที่มาบริหารงานสุขภาพนี้ ผมจึงดีใจมากที่ความมุ่งมั่นของผู้บริหารส่วนกลางที่จะวางรากฐานเวชปฏิบัติครอบครัวให้ฝังอยู่ในโครงสร้างระบบบริการสอดรับด้วยดีกับยุทธศาสตร์ที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในส่วนภูมิภาคดำเนินการอยู่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของทีมหมอครอบครัวของพื้นที่ให้เข้มแข็งได้ครับ


ผมเชื่อว่าไม่เฉพาะชาวบ้านหรอกครับ แต่บุคลากรสายสุขภาพอย่างพวกเราก็ปรารถนาจะมีหมอใกล้บ้าน ใกล้ตัว ใกล้ใจ ไม่มีใครอยากเสียเวลา 1 วันเต็มกับการมารอรับการตรวจที่ รพ.ตั้งแต่เช้ามืดจนดึกดื่น








หมอครอบครัวตอบสนองข้อปรารถนานี้ได้ครับ การมีทีมหมอครอบครัวเข้มแข็งจะช่วยได้หลายทางทีเดียว เป็นต้นว่า
  •  โรคภัยไข้เจ็บได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มต้น และรักษาก่อนจะลุกลามสู่ภาวะวิกฤติ
  •  ชาวบ้านได้รับคำแนะนำการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคสำหรับทุกกลุ่มวัยที่เหมาะสม ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดในเรื่องอาหารการกิน น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย
  •  ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาล เพียงเพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาผื่น แผล โรคติดเชื้อทั่วไป ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือตรวจความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  •  ชาวบ้านสามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ได้สะดวกโดยอาศัยเครื่องมือสื่อสาร
  •  ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสม ได้รับการตรวจคัดกรองต้อกระจกที่ก่อให้เกิดตาพิการ การดูแลด้านทันตกรรม และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต
  •  ผู้ป่วยพิการ ติดเตียง ได้รับการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่ถูกทอดทิ้ง
  •  ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้านและจากไปอย่างสงบท่ามกลางความอบอุ่นของครอบครัว
  •  ห้องฉุกเฉินในหน่วยบริการระดับสูงขึ้นไปได้รักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ
  •  หอผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้ดูแลปัญหาที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางจริงๆ

สรุปคือประชาชนได้รับความสะดวกจากบริการที่มีคุณภาพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะแต่ละหน่วยบริการได้ปฏิบัติภารกิจที่แท้จริงของหน่วยนั้นๆ
การจัดบริการที่ครอบคลุมทุกครัวเรือนยังลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของคนทุกกลุ่มวัยและกลุ่มประชากร ทั้งยังกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เริ่มคลายตัวในสังคมไทยให้กลับมาแน่นแฟ้นดังเดิมด้วยครับ
ในครั้งก่อนที่ผมพูดถึงบทบาทของทีมหมอครอบครัวในการลดระยะห่างระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในชุมชนนั้น ระยะห่างในที่นี้จึงหมายถึงระยะห่างเชิงภูมิศาสตร์และสัมพันธภาพนั่นเอง
อย่างไรก็ดี พี่น้องหลายท่านคงเคยเจอสถานการณ์ที่ชาวบ้านไม่แวะหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่ยอมเดินทางไกลมา รพช. รพท. และ รพศ.เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเอง/ญาติจะหาย หรือทุเลาจากอาการป่วยมาแล้วใช่ไหมครับ
การสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิจึงมีความสำคัญครับ เราต้องพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโดดเด่นของเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อจูงใจบัณฑิตและบุคลากรสายสุขภาพให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพแขนงนี้ และเชื่อมโยงกับการบริการสุขภาพในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งเช่นกัน โดยมีการส่งต่อผู้ป่วยไปและกลับ ตามขั้นตอนของระบบ เป็นอย่างดี

จึงเป็นที่มาของจุดประสงค์สุดท้ายในการเยี่ยมพี่น้องในเขตสุขภาพครับ นั่นคือ การค้นหาแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับปรับใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
พวกเราพบแนวปฏิบัติที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งยังพบคำถามที่รอคำตอบอีกหลายข้อ ซึ่งผมจะทยอยชี้แจงในโอกาสถัดไปครับ


ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การกำหนดอัตลักษณ์ “จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ของบัณฑิต

สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ครั้งก่อนผมทิ้งท้ายประเด็นจิตวิญญาณของบุคลากรสุขภาพที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ จึงอยากจะเสริมประเด็นนี้ต่อครับ หลังจากได้ไปเห็นการดำเนินงานของพี่น้องสาธารณสุขที่ขอนแก่นในการปลูกจิตสำนึกของนักศึกษาให้มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม



แม้ว่าเราจะมีนโยบายผลิตบุคลากรสุขภาพเพิ่มทุกปี โดยผ่านยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ปัญหาบุคลากรขาดแคลนและกระจายไม่ครอบคลุมก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ พื้นที่ไหนขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ก็ยังขาดแคลนอยู่เช่นนั้น
อันที่จริง สถานศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ ทักษะชีวิต และเจตคติที่ดีมาช้านานแล้วนะครับ ทุกแห่งล้วนมุ่งหวังที่จะแทนที่คำว่า ‘resources’ ใน human resources ของระบบสุขภาพด้วยคำว่า ‘beings’
แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเกิดขึ้นเพียงบางส่วน พี่น้องสาธารณสุขที่ขอนแก่นจึงคิดใหม่ให้ครอบคลุม ดังเช่นโครงการ พยาบาลชุมชน ที่โรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การสรรหาเด็กที่มีศักยภาพ ความตั้งใจ และทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ ร่วมกับคนในชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่นและสถาบันเครือข่าย การจัดหลักสูตรที่ให้ทั้งความรู้ในวิชาชีพและทักษะชีวิต และการจัดโครงสร้างการทำงานและระบบนิเวศในชุมชนที่เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพอย่างมีความสุขตามอัตภาพ
การกำหนดอัตลักษณ์ จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของบัณฑิตที่ชัดเจนเช่นนี้มีความสำคัญครับ เพราะมันช่วยวางกรอบการคัดเลือกบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการ ช่วยพัฒนาหลักสูตรที่จะแปลงภาพบัณฑิตในอุดมคติออกมาเป็นรูปธรรม และช่วยสร้างกลไกในพื้นที่ให้บัณฑิตเหล่านี้ปฏิบัติงานได้ยาวนาน
การสร้างความเชื่อมั่นแก่พวกเขาในสวัสดิการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ จึงต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตใจและการมีระบบเกื้อกูลฉันพี่น้อง กลไกการเงินมีความจำเป็นก็จริง แต่กลไกสำคัญต่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพคือการหล่อหลอมจิตใจพวกเขาให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพครับ
การกำหนดอัตลักษณ์ของบัณฑิตที่ชัดเจนข้างต้นยังช่วยวางกรอบการคัดเลือกผู้จะเป็นครูและการฝึกอบรมครูด้วย ครูไม่ได้สำคัญเพียงเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพเท่านั้น ครูที่ดียังต้องสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังอุดมคติ และสอนลูกศิษย์ให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพด้วย การเลือกคนดีมากกว่าคนเก่งมาเป็นอาจารย์จึงสำคัญไม่แพ้การเลือกคนดีมาเป็นบัณฑิต

การสอนนักศึกษาแพทย์ของสถาบันผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของศูนย์แพทย์ศึกษา โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ก็ยึดแนวทางนี้เช่นเดียวกันครับ เป็นที่น่ายินดีว่านักศึกษาแพทย์ถึงกว่าร้อยละ 80 ที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ยังทำงานอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
อนึ่ง ในการวางนโยบายสาธารณสุข ผม และ รมช.ได้นำความมุ่งหวังตั้งใจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จะเห็นสังคมไทยในยุคปฏิรูปมีความมั่นคงมาเป็นกรอบพิจารณาครับ

ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ เราเห็นพ้องว่าเราต้องเร่งคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอันดับแรก และวางรากฐานที่ยั่งยืนแก่ระบบสาธารณสุขไปพร้อมกัน
เราเห็นพ้องด้วยว่าปัญหาสาธารณสุขที่ประเทศเผชิญมาตลอดล้วนมีปัจจัยร่วมตัวเดียวกัน นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำ นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำเป็นสำคัญ

การจัดทีมหมอครอบครัวลงไปดูแลเชิงรุกถึงชุมชนอย่างเป็นองค์รวม เพื่อลดระยะห่างระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเสริมสร้างระบบสุขภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำของทุกกลุ่มวัยและกลุ่มประชากรในสังคมที่ชัดเจนครับ

แต่การทำงานของทีมหมอครอบครัวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยพลังจากทุกวิชาชีพและภาคส่วนของสังคม ปัญหาสุขภาพมีปัจจัยกำหนดทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และอยู่นอกขอบเขตของกระทรวงสาธารณสุข การขับเคลื่อนจึงต้องอาศัยกำลังคนและเม็ดเงินจากหลายภาคส่วน

ผมจึงชื่นใจที่เห็นแนวทางการผลิตบุคลากรสายสุขภาพที่สถานศึกษาหลายแห่งดำเนินการอยู่นี้มีความสอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศของเรากำลังมุ่งไป อาทิ การจัดกิจกรรมให้นักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร สาธารณสุข ร่วมแก้ปัญหาชุมชน เพื่อฝึกการทำงานแบบ รวมมิตรไม่ใช่แบบขนมชั้น ฝึกการเชื่อมประสานกับภาคส่วนอื่นในชุมชนเพื่อสนธิพลังในการขับเคลื่อนงาน และฝึกการมองภาพเชิงระบบของงานสาธารณสุข
ทั้งหมดนี้จะทำให้พวกเขาไม่มืดแปดด้าน สับสน หรือใช้เวลาตั้งหลักอยู่นานเมื่อถึงคราวต้องลงสนามจริงครับ

หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยไม่เป็นสองรองใครเลยในเรื่องจำนวนและคุณภาพของสถาบันการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ ทั้งนี้เพราะบูรพาจารย์และคนรุ่นก่อนได้วางรากฐานโครงสร้างการผลิตกำลังคนไว้ดียิ่ง
การศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพจึงเป็นบทบาทหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งยังเป็นโมเดลแก่ภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

ในเมื่อเรามีต้นทุนและสินทรัพย์ล้ำค่าเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อไปจึงเป็นการเดินหน้าให้ต้นทุนเหล่านี้ผลิดอกออกผลเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ เพื่อให้เมืองไทยเป็นสังคมที่สมบูรณ์พูนสุข ร่วมเย็น และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยั่งยืน
เราก้าวล้ำนำหน้าหลายประเทศ ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า แต่ยังนำบริการสาธารณสุขลงไปไม่ถึงทุกครัวเรือน
เราเล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมที่น่าอยู่มานานแล้ว อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแกนนำเสนอต่อสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 66 ในปี พ.ศ. 2556 ให้ผ่านมติ ปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (อีกนัยหนึ่งคือเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียม) อีกด้วย

เราจึงมาถูกทางแล้วครับ หากเราเดินตามแนวทางนี้ ประเทศไทยจะมีบัณฑิตจำนวนมากที่มีความรู้ มีอุดมการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจแก่อนุชนรุ่นหลัง
ดังเช่นพี่น้องสาธารณสุขที่ผมได้พบปะในหลายพื้นที่ ผู้มองการลดความเหลื่อมล้ำ การหยิบยื่นโอกาสแก่ผู้ที่ขาด การช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคมให้พ้นวัฏจักรความยากจน เป็นความสุข ความอิ่มเอมใจ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต

ถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐมากครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ