วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทีมหมอครอบครัว : หมอใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ


สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ผมจะกล่าวถึงทีมหมอครอบครัวครับ
ดังที่ได้เรียนไว้ในการสื่อสารครั้งแรกว่า ผมมีจุดประสงค์สำคัญในการไปเยี่ยมพี่น้องในเขตสุขภาพ จุดประสงค์แรก คือ เพื่อสำรวจสถานการณ์สุขภาพของชาวบ้าน และรับฟังปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว
จุดประสงค์สำคัญที่สอง คือ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งมีอยู่มากมาย และนำมาขยายผลเป็นต้นแบบได้ ทั้งยังเป็นการแสดงความยินดีต่อผลงาน ให้ความสนับสนุนและกำลังใจแก่ชาวสาธารณสุขที่ทำงานทุ่มเทแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย
จากการลงพื้นที่ตั้งแต่ปลายตุลาคมที่ผ่านมา และพบภาวะเตียงล้นในหอผู้ป่วยใน พบความแออัดในหอผู้ป่วยนอก ทั้งยังพบว่าในหลายกรณีโรคเหล่านี้สามารถตรวจรักษาได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน หรือเป็นภาวะที่ป้องกันได้ เช่น อุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น ผมจึงมั่นใจครับว่า ทีมหมอครอบครัวน่าจะมีบทบาทแก้ไขภาวะเหล่านี้



ความจริงแล้ว ภาวะแออัดในหอผู้ป่วยในและหอผู้ป่วยนอกเป็นเรื่องที่เราเจอมาตลอดนะครับ และเราก็มีวิธีจัดการค่อนข้างหลากหลายทีเดียว
การสร้างอาคารเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ทวีจำนวนเรื่อยๆ เป็นทางออกที่สถานพยาบาลหลายแห่งดำเนินการ ขณะที่บางแห่งก็ใช้วิธีบริหารจัดการเตียง เช่น การมีมาตรการรับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็น การลดจำนวนวันนอนที่เกินจำเป็น และการจัดตั้งหน่วยบริการแถบชานเมืองไว้รองรับผู้ป่วยระยะฟื้นตัว หรือรอตรวจพิเศษ
หลายแห่งยังหาวิธีแก้ไขอื่นร่วม อาทิ การหมุนเวียนแพทย์เฉพาะทางไปให้บริการที่ รพช. หรือการจัด CUP หรือ CUP Split ให้บริการเชิงรับแก่ประชาชนตามมุมเมือง และให้บริการเชิงรุกถึงครัวเรือน ในด้านรักษา ส่งเสริม ป้องกัน เป็นต้น
จากตัวอย่างท้ายสุดนี้ ท่านจะเห็นว่าแนวคิดการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงไปให้บริการถึงครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย และความที่ผมเองก็ให้ความสำคัญต่อการขยายผลโครงการเดิมที่มีประโยชน์ เท่าๆ กับการริเริ่มแผนงานใหม่ในช่วงเวลาอันสั้นที่มาบริหารงานสุขภาพนี้ ผมจึงดีใจมากที่ความมุ่งมั่นของผู้บริหารส่วนกลางที่จะวางรากฐานเวชปฏิบัติครอบครัวให้ฝังอยู่ในโครงสร้างระบบบริการสอดรับด้วยดีกับยุทธศาสตร์ที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในส่วนภูมิภาคดำเนินการอยู่แล้ว การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของทีมหมอครอบครัวของพื้นที่ให้เข้มแข็งได้ครับ


ผมเชื่อว่าไม่เฉพาะชาวบ้านหรอกครับ แต่บุคลากรสายสุขภาพอย่างพวกเราก็ปรารถนาจะมีหมอใกล้บ้าน ใกล้ตัว ใกล้ใจ ไม่มีใครอยากเสียเวลา 1 วันเต็มกับการมารอรับการตรวจที่ รพ.ตั้งแต่เช้ามืดจนดึกดื่น








หมอครอบครัวตอบสนองข้อปรารถนานี้ได้ครับ การมีทีมหมอครอบครัวเข้มแข็งจะช่วยได้หลายทางทีเดียว เป็นต้นว่า
  •  โรคภัยไข้เจ็บได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มต้น และรักษาก่อนจะลุกลามสู่ภาวะวิกฤติ
  •  ชาวบ้านได้รับคำแนะนำการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคสำหรับทุกกลุ่มวัยที่เหมาะสม ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดในเรื่องอาหารการกิน น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย
  •  ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาล เพียงเพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาผื่น แผล โรคติดเชื้อทั่วไป ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือตรวจความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  •  ชาวบ้านสามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ได้สะดวกโดยอาศัยเครื่องมือสื่อสาร
  •  ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสม ได้รับการตรวจคัดกรองต้อกระจกที่ก่อให้เกิดตาพิการ การดูแลด้านทันตกรรม และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต
  •  ผู้ป่วยพิการ ติดเตียง ได้รับการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่ถูกทอดทิ้ง
  •  ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้านและจากไปอย่างสงบท่ามกลางความอบอุ่นของครอบครัว
  •  ห้องฉุกเฉินในหน่วยบริการระดับสูงขึ้นไปได้รักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ
  •  หอผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้ดูแลปัญหาที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางจริงๆ

สรุปคือประชาชนได้รับความสะดวกจากบริการที่มีคุณภาพ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะแต่ละหน่วยบริการได้ปฏิบัติภารกิจที่แท้จริงของหน่วยนั้นๆ
การจัดบริการที่ครอบคลุมทุกครัวเรือนยังลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของคนทุกกลุ่มวัยและกลุ่มประชากร ทั้งยังกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เริ่มคลายตัวในสังคมไทยให้กลับมาแน่นแฟ้นดังเดิมด้วยครับ
ในครั้งก่อนที่ผมพูดถึงบทบาทของทีมหมอครอบครัวในการลดระยะห่างระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในชุมชนนั้น ระยะห่างในที่นี้จึงหมายถึงระยะห่างเชิงภูมิศาสตร์และสัมพันธภาพนั่นเอง
อย่างไรก็ดี พี่น้องหลายท่านคงเคยเจอสถานการณ์ที่ชาวบ้านไม่แวะหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่ยอมเดินทางไกลมา รพช. รพท. และ รพศ.เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเอง/ญาติจะหาย หรือทุเลาจากอาการป่วยมาแล้วใช่ไหมครับ
การสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิจึงมีความสำคัญครับ เราต้องพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความโดดเด่นของเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อจูงใจบัณฑิตและบุคลากรสายสุขภาพให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพแขนงนี้ และเชื่อมโยงกับการบริการสุขภาพในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งเช่นกัน โดยมีการส่งต่อผู้ป่วยไปและกลับ ตามขั้นตอนของระบบ เป็นอย่างดี

จึงเป็นที่มาของจุดประสงค์สุดท้ายในการเยี่ยมพี่น้องในเขตสุขภาพครับ นั่นคือ การค้นหาแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับปรับใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
พวกเราพบแนวปฏิบัติที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งยังพบคำถามที่รอคำตอบอีกหลายข้อ ซึ่งผมจะทยอยชี้แจงในโอกาสถัดไปครับ


ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ