วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประสบการณ์จากสถานการณ์โรคติดเชื้อที่แพร่ระบาด



สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ



          ความคืบหน้าการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome—MERS) ในไทยล่าสุด ผู้ป่วยยืนยันยังอยู่ที่ 1 รายครับ อาการดีขึ้นแล้ว เรายังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในกลุ่มผู้สัมผัส กระนั้นก็ยังชะล่าใจไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ชาวไทยนับถือศาสนาอิสลามจะไปร่วมพิธีอุมเลาะห์และฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย แต่เราก็วางมาตรการเฝ้าระวังไว้แล้ว

          ผมลองสะท้อนย้อนคิด โดยอาศัยประสบการณ์การติดตามความพร้อมในการรับมือช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วมกับการติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้ออื่นๆ ที่แพร่ระบาดในอดีต อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่ พอจะประมวลเป็นข้อคิดที่อยากฝากไว้สั้นๆ ณ ที่นี้ครับ
          1.การสกัดการแพร่ระบาด ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งในและนอกประเทศ สำคัญเหนืออื่นใดคือการสร้างปราการการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง ตั้งแต่สายการบินจากประเทศที่มีการระบาด การเฝ้าระวังที่สนามบิน ท่าเรือ และด่านต่างๆ การสร้างความพร้อมของโรงพยาบาลในการจัดให้มีห้องแยก การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของบุคลากรในการสวมใส่ชุดป้องกันโรค


          2.การบริหารความเสี่ยง ต้องประเมินอย่างมีสติและหลักการ สื่อสารได้ชัด ไว ทั่วถึงกลุ่มประชากรสำคัญ และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดึงผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเสมอ
          3.การเฝ้าระวังและติดตาม ต้องเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่กระจายโดยเร็ว ห้องปฏิบัติการต้องมีความแม่นยำ นักระบาดวิทยาและนักสาธารณสุขต้องมีฝีมือในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล วางระบบแจ้งเตือน ระบบลำเลียง และระบบสาธารณูปโภค จิตอาสาต้องมีเพียงพอต่อการเสริมทัพ


          4.การซ้อมแผน เสริมสมรรถภาพ สร้างกำลังคน ต้องทำสม่ำเสมอเพื่อหาจุดปรับปรุง ทั้งยังต้องพร้อมออกปฏิบัติการ และขยายกองกำลังเมื่อจำเป็น
          5.ระบบสุขภาพ ต้องแข็งแกร่งทั้งในด้านกำลังคน กำลังเงิน กำลังทรัพยากร ระบบบริการปฐมภูมิต้องเข้มแข็ง การดูแลผู้ป่วยวิกฤติต้องได้มาตรฐานสากล พร้อมสรรพด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่จำเป็นหลายจุดเราทำได้ดีแล้ว แต่หลายจุดเราต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือต่อสภาวการณ์ปัจจุบันที่คนและสัตว์ป่ามีถิ่นฐานใกล้ชิดมากขึ้น โรคติดเชื้อแพร่กระจายข้ามซีกโลกใน 1 วัน ขณะที่ข่าวสารทั้งจริงและเท็จก็แพร่กระจายสู่ทุกมุมโลกในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง


          ผมขอชื่นชม และให้กำลังใจชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ ที่มีส่วนร่วมในการควบคุมการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประสานงานกันเป็นอย่างดี ผมทราบว่าทุกท่านเสียสละทำงานหนัก และมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคด้วย แต่เราต้องช่วยกันเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย ป้องกันการแพร่กระจาย และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความมั่นคงของชาติด้วยครับ ผมขอขอบคุณทุกท่านจากใจครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ




วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน


สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

จุดประสงค์ของการมี FCT (Family Care Team) คือการสร้างกลไกสัมผัสชุมชน เพิ่มการเข้าถึงของคนในชุมชนต่อบริการสุขภาพและดูแลเบื้องต้นในทุกภาวะโรคอย่างต่อเนื่อง เราโชคดีที่ในช่วงขวบปีแรกของการวางรากฐาน FCT ให้เป็นสะพานเชื่อมชุมชนสู่ระบบสุขภาพนั้น เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เพราะบริการปฐมภูมิของไทยได้วางรากฐานมาช้านาน ทั้งยังมีลักษณะเด่นที่น่าชื่นชม คือ มีจิตอาสาเป็นกำลังสำคัญแต่เราก็อยากเริ่มแบบช้าๆ ทว่ามั่นคง จึงเลือกให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่ควรใส่ใจเป็นลำดับต้นก่อนครับนั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุ


ดังที่ทราบกันดีครับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 แล้ว กล่าวคือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ต่อประชากรทั้งประเทศเกินร้อยละ 10 แต่ก็มีข้อน่ากังวล คือ อัตราการพึ่งพิงในวัยสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา อยู่ตามลำพัง และมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม พิการ และติดเตียง
ภารกิจเร่งด่วนจึงเป็นการจัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียงโดยฝึกอบรมผู้จัดการดูแล ผู้ดูแล ร่วมกับจัด FCT ออกตรวจเยี่ยมมุ่งหวังคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล


แต่การเตรียมแค่นั้นคงไม่พอครับ เพราะจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2557 ที่พบสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 15 และคาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งตามนิยามของสหประชาชาติถือเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เราคงต้องเตรียมความพร้อมมากกว่านี้
สมัยก่อนคนตะวันตกก็นิยมเลี้ยงดูคนเฒ่าคนแก่เอง แบบเดียวกับบ้านเราเมื่อไม่นานนี้ ตราบจนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่างคนต่างต้องออกไปทำมาหากิน วิถีดังกล่าวจึงเปลี่ยนไปในช่วงเวลานี้ที่ดัชนีผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก การดำเนินวิถีชีวิตในสังคมไทยจึงมีแนวโน้มค่อนไปทางสังคมตะวันตกมากขึ้น การดูแลโดยครอบครัวคงไม่ใช่รูปแบบเดียว แต่ต้องมีการดูแลโดยสถาบันและชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
กระนั้น เมื่อเหลียวมองรอบตัวขณะนี้เราจะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้สร้าง หรือวางแผน โดยมีผู้สูงอายุในวิสัยทัศน์เท่าที่ควรการศึกษาปัจจุบันก็มุ่งสอนทักษะสำหรับคนวัยทำงาน สวนสาธารณะในเมืองก็มีน้อยกว่าตึกระฟ้าถนนหนทางก็ไม่อำนวยความสะดวกต่อผู้ที่จะผละจากการขับรถมาเดินเท้า ระบบขนส่งมวลชนก็ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคตมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี ประกอบกิจการงานที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงในชีวิตจึงต้องรีบลงมือแต่บัดนี้ และไม่อาจทำสำเร็จโดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงลำพังด้วยครับแต่ต้องอาศัยการผนึกกำลังของหลายองค์กรทีเดียว
จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาดไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแรงงานจับมือร่วมกันในโครงการ รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจ ห่วงใยผู้สูงอายุนำร่องพัฒนารูปแบบในพื้นที่ 155 ตำบลใน 76 จังหวัด ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ผมเชื่อว่าภาพที่หลายคนพึงปรารถนาคงไม่ใช่ภาพผู้สูงอายุที่สุขภาพย่ำแย่ ประกอบกิจวัตรลำบากเอาแต่นั่งเฉย นอนเฉย ปล่อยให้เวลาล่วงเลย แต่เป็นภาพผู้สูงอายุที่ยังทำงานประจำ หรืองานอดิเรกที่ตัวเองรัก หยิบจับกิจกรรมที่อยากทำแต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน
เราอยากเห็นผู้สูงอายุที่สมองยังฉับไว กระฉับกระเฉง กำลังวังชายังปราดเปรียว มีเงินหล่อเลี้ยงกายใจตามอัตภาพ ผลิตงานเล็กงานใหญ่สู่สังคม

ผู้สูงอายุหลายคนมีทุนสังคมทุนปัญญามหาศาล พวกเขามีส่วนสำคัญในการชี้แนะ สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังได้ไม่น้อย
คงน่าเสียดายที่เราจะละเลยทุนมีค่านี้ให้ฝ่อลีบไป

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

FCT สะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ




สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ทีมหมอครอบครัว ซึ่งต่อจากนี้ผมขอเรียก FCT (Family Care Team) นะครับ เนื่องจากติดปากใครหลายคนแล้ว ถือเป็นสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ผ่านบริการปฐมภูมิที่กำลังทวีความสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันครับ ว่าบริการปฐมภูมิคือเสาหลักของการดูแลสุขภาวะประชาชนในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ FCT ในลักษณะที่เราดำเนินการก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าช่วยลดช่องว่างเชิงภูมิศาสตร์และเชิงสัมพันธภาพระหว่างประชาชนและผู้ดูแล ทั้งยังช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันและร่วมมือจริงจังในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ปัญหาสุขภาวะ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน อุบัติเหตุ ตั้งครรภ์วัยรุ่น อุบัติเหตุการจราจร สามารถป้องกันหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากทุกคนในชุมชนได้รับความรู้และเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การจัดสภาพแวดล้อมของสังคมที่เอื้อต่อสวัสดิภาพและปลอดอบายมุข
ยิ่งขณะนี้ที่เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเชิงประชากรศาสตร์ กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และเปลี่ยนผ่านเชิงระบาดวิทยา กล่าวคือ คนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีมากขึ้น ทั้งยังเจอภาวะทุพพลภาพหลากหลายในคนเดียว การป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ เรื่อยไปถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่อาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่าย ยิ่งมีความจำเป็น
ผมจึงขอชื่นชมพี่น้องชาวสาธารณสุขในทุกเขตที่ร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาได้ครอบคลุม โดยตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยกำหนดที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังจากภายในและภายนอกกระทรวง
หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมการดำเนินงานของ FCT ในหลายเขตสุขภาพมาแล้ว ผมขอชื่นชมพี่น้องทุกพื้นที่ที่สรรหาวิธีดำเนินการที่หลากหลายด้วยครับ บ้างนำเทคโนโลยีสื่อสารผ่านมือถือ เช่น LINE application มาใช้เพื่อความรวดเร็วและการเข้าถึงคนบางกลุ่ม อาทิ เด็กวัยรุ่น บ้างจัดหาพาหนะพิเศษเพื่อเข้าถึงจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร บ้างจัดตั้งธนาคารวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ร่วมกัน บ้างได้ผู้มีบารมีและเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน อาทิ โต๊ะอิหม่าม เจ้าอาวาสนำทีมเยี่ยมบ้าน


พื้นที่ที่มีความพิเศษก็คิดหารูปแบบพิเศษเพื่อให้การดูแลครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย อาทิ สร้างสุขศาลาในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ผลิตอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวเพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว จัดคลินิกลอยน้ำเพื่อดูแลสุขภาพชาวประมง
หลายพื้นที่พยายามวางระบบเชื่อมประสานให้ไร้รอยต่อระหว่างบ้านกับสถานบริการ ทั้งในยามส่งผู้ป่วยสู่สถานบริการระดับสูงขึ้นไป และยามจำหน่ายผู้ป่วยกลับคืนสู่ระบบการดูแลในชุมชน หรือแม้แต่จัดแพทย์เฉพาะทางมาตรวจรักษาในจุดที่การเดินทางเข้าเมืองมีความลำบาก รวมถึงให้คำแนะนำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์


ผมว่าคงจะดีไม่น้อยนะครับ หากเราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เพื่อปรับกลไกการทำงานให้ปราดเปรียว ยืดหยุ่น ทันสมัย เป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบริการปฐมภูมิและ FCT นี้




เรายังมีอีกหลายประเด็นคำถามทีเดียวครับ ในการพัฒนาบริการปฐมภูมิและFCT ให้ดียิ่งขึ้น อาทิ
§ องค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ของ FCT ที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร เจ้าหน้าที่ควรมีทักษะจำเป็นอะไรบ้างสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม อันจะช่วยให้บุคลากรมีความสุขกับงานควรมีอะไรบ้าง
§ การทำหน้าที่ gatekeeper หรือนายทวาร ช่วยลดการรอคอยของผู้ป่วยและส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเพียงไร
§ การดูแลรูปแบบไหนลดอัตราการส่งต่อผู้ป่วย ระบบส่งต่อผู้ป่วยทั้งแบบปกติและฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพควรมีรูปแบบใดบ้าง
§ การจัดสรรเงินรูปแบบไหนช่วยให้การทำงานคล่องตัวแต่ละรูปแบบมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความเสมอภาคของบริการอย่างไร
อนึ่ง เมื่อนึกถึง FCT ภาพที่วาบเข้ามาในมโนทัศน์ของหลายท่านคงเป็นภาพ FCT ในชนบทและชุมชนเมืองตามต่างจังหวัดใช่ไหมครับ แท้ที่จริงแล้วFCT ปรากฏในมหานครด้วย รูปลักษณ์และความท้าทายของการบริหารจัดการFCT ในนครใหญ่มีความเหมือนและต่างจาก FCT ในชนบทอย่างไรผมจะกล่าวถึงในโอกาสเหมาะสมต่อไปครับ


ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ