วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เยี่ยมพี่น้องชาวสาธารณสุขในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตาก

สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ
            ความจริงหนนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องบริการสุขภาพปฐมภูมิและความจำเป็นของการมีทีมหมอประจำครอบครัว เพราะเป็นประเด็นที่วาบเข้ามาในความคิดทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่และเห็นปัญหา
            แต่การไปเยี่ยมพี่น้องชาวสาธารณสุขในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตาก พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผมเห็นประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น จึงอยากแบ่งปันข้อสังเกตและข้อขบคิดจากการไปเยือนในครั้งนี้ก่อนครับ


ปัญหาสาธารณสุขที่พบในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความ พิเศษสมชื่อจริงๆ ครับ ไม่ว่าจะความพิเศษเชิงประชากรศาสตร์ คือ การมีสัดส่วนบุคคลไร้รัฐและไร้สัญชาติสูง จนทำให้ รพ.หลายแห่งมีสัดส่วนของผู้ป่วยต่างด้าวสูงกว่าคนไทย คนกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิครับ ส่วนใหญ่มาโรงพยาบาลเมื่อมีปัญหาร้ายแรงแล้ว อาทิ มาลาเรีย วัณโรคดื้อยาหลายขนาน ไข้รากสาดใหญ่ คอตีบ หัด โรคเรื้อน อหิวาตกโรค ซิฟิลิส และไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น และความที่พวกเขาไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ การจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพให้โรงพยาบาลสำหรับดูแลพวกเขาจึงไม่เกิด โรงพยาบาลเลยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและประสบปัญหายาและเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ



ความพิเศษเชิงภูมิศาสตร์ที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เป็นเขตอุทยาน มีป่าไม้หนาแน่น ก็สร้างความท้าทายต่อการตัดเส้นทางคมนาคมมาก เส้นทางคมนาคมที่มีอยู่ก็โค้งไปโค้งมาตามสภาพภูเขา การสัญจรจึงกินระยะเวลานาน
แต่ละอำเภอก็อยู่ห่างกัน การเดินทางระหว่างอำเภอใช้เวลากว่าครึ่งวัน ช่วงผมนั่งรถกว่า 1,000 โค้งทั้งขาไปและขากลับแม่สอด-อุ้มผาง ผมก็ตระหนักว่า รพช.ชายแดนเหล่านี้จำต้องมีความพร้อมสรรพและทำอะไรได้เบ็ดเสร็จในตัวจริงๆ เพราะการส่งต่อผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผู้ป่วยที่มีอาการขั้นวิกฤติคงเสียชีวิตก่อนที่จะส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลแม่สอด
การเดินทางภายในอำเภอยังลำบากยิ่งกว่าอีกครับ ตอนผมนั่งรถ 4X4 ตะลุยเส้นทางสมบุกสมบันจาก รพ.สต.ไปสุขศาลาชายแดนไทย-เมียนมาร์ ผมก็นึกภาพออกเลยว่าช่วงหน้าฝน เส้นทางนี้คงวิบากไม่น้อย



แต่ภายใต้ข้อจำกัดของกำลังคนและทรัพยากร และความพิเศษของพื้นที่ พี่น้องชาวสาธารณสุขกลับไม่ท้อถอย แต่มีความตั้งใจและวิริยะอุตสาหะที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยมนุษยธรรม โดยคิดค้นกลยุทธ์น่าสนใจเพื่อบรรเทาเบาบางภาระและเสริมประสิทธิภาพการบริการ อาทิ
มีการเปิดสถานบริการพิเศษแถบชายแดน Malaria Post และ Health Post เพื่อคัดกรองโรค ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ พร้อมจัดหลักสูตรอบรมบุคลากรในท้องที่ให้ปฏิบัติงานแบบเข้าถึงชุมชน
มีการประกบคู่หมู่บ้านฝั่งไทยและเมียนมาร์ในลักษณะ buddy system เพื่อช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังโรคระหว่างเมืองชายแดน 
มีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรเอกชนในพื้นที่ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขไทย-เมียนมาร์ เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และสอบสวนโรคอย่างครอบคลุม
ผมขอชื่นชมจากใจจริงครับ ขณะเดียวกันก็เห็นใจมากกับข้อจำกัดหลายประการที่เป็นเหตุให้พี่น้องทำงานไม่ราบรื่น โดยเมื่อลองประมวลบริบทและสถานการณ์จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผมก็เห็นประเด็นมากมายที่ล้วนพัวพันกันไปหมด



อันดับแรกผมเห็นความจำเป็นที่คนไร้รัฐเหล่านี้ต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานครับ
การทำเช่นนี้ยังให้ประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายด้วย เพราะเมื่อพวกเขาได้รับบริการสาธารณสุขที่ดี พวกเขาก็จะน่ามีสุขอนามัยที่ดี และมีโอกาสเสี่ยงน้อยที่จะติดเชื้ออันตรายที่อาจจะแพร่สู่คนในสังคม จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย ต่อการทำมาหากินของคนในประเทศ และต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นลูกโซ่
ในสมการของการดูแลคนไร้รัฐนี้ เรายังมีปัจจัยของ AEC เข้ามาอีก

ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แสดงความปรารถนาที่จะเห็นไทยมีบทบาทผู้นำในหลายๆ ด้าน ผมก็มองว่าระบบบริการสุขภาพน่าจะเป็นจุดที่ไทยแสดงบทบาทผู้นำและผู้ให้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศโดยทั่วไป และการยกระดับการสาธารณสุขชายแดนให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเน้นงานส่งเสริมและป้องกันเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี จากปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่องที่มาพร้อมการดูแลคนไร้รัฐดังกล่าวข้างต้น ในช่วงค่ำของวันที่พวกเราพักที่อุ้มผาง ผมและทีมผู้บริหารจึงช่วยกันคิดหาทางออกให้พี่น้องแถบนี้และแถบชายแดนอื่นๆ ที่อาจประสบสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานของพวกเขา
เรื่องการขาดสภาพคล่องนั้น ในเบื้องต้นเราคงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในลักษณะพี่ใหญ่ช่วยน้องเล็กแบบที่เราทำกันมาช้านานนะครับ ดังเช่นกรณีของ รพ.อุ้มผาง โรงพยาบาลแม่สอดช่วยทางการเงิน โดยตัดหนี้ให้
แต่ในระยะกลางและระยะยาว เราคงต้องแก้ปัญหาเชิงระบบที่จะบรรเทาภาระของโรงพยาบาลและให้การดูแลคนไร้รัฐอย่างยั่งยืนครับ
อันดับแรกที่ควรทำเร่งด่วนก็คือการประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาวิธีให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย อันหมายรวมถึงคนไร้รัฐด้วย ได้ขึ้นทะเบียนราษฎร์และมีเลขประจำตัว 13 หลัก
วิธีนี้จะทำให้พวกเขาได้สิทธิประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานครับ ขณะเดียวกันเม็ดเงินสำหรับดูแลคนเหล่านี้ก็จะตกไปถึง รพ.ที่เกี่ยวข้อง เราคงต้องศึกษาวิธีที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการมาแล้ว
เราคงต้องพยายามคิดนอกกรอบเพื่อหาวิธีจัดสรรงบประมาณสำหรับพื้นที่พิเศษเหล่านี้ เราคงต้องพิจารณาประสานกับภาคประชาสังคมในการระดมเงินทุนเพื่อจัดตั้งกองทุน และประสานกับกระทรวงต่างประเทศในการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรการกุศลนานาชาติด้วยครับ



ก่อนจบ ผมขอทิ้งท้ายประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจหยิบการลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเขียนก่อน นั่นก็คือ จิตวิญญาณของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ ในการทำงานให้สำเร็จโดยยึดหลักอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) และยึดมั่นในหลักพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์และสาธารณูปโภคที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างเต็มพละกำลัง
พอได้เห็นบุคลากรเหล่านี้ทำงานด้วยหัวใจ ทั้งยังเลือกอยู่กับภารกิจนี้อย่างยาวนานโดยไม่ขอย้ายไปแห่งหนไหน ผมก็อยากค้นหาให้เจอนะครับว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขามีเจตคติ ทัศนคติ และปรัชญาในการดำรงชีวิตเช่นนี้
ผมมีความเชื่อว่าความสุขของพวกเขาเกิดขึ้นจากการทำงานทุกวัน ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยชีวิต ช่วยให้เขาทุเลาความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสในชีวิตเพิ่มขึ้น
ความสุขดังกล่าวนี้คือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้บุคลากรเหล่านี้มีพลังที่จะอุทิศให้แก่คนที่ด้อยโอกาสกว่าได้อย่างต่อเนื่องครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยและขอสนับสนุนแนวคิด วิสัยทัศน์ดีๆ มาตรการต่างของท่านอาจารย์ครับ ที่ท่านประกาศว่าโครงการของเดิมที่ดีอยู่แล้วก็คงไว้หรือต่อยอดให้ดีขึ้น บวกกับแสวงหามาตรการใหม่ที่อำนวยประโยชน์สร้างมูลค่าให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน บ่งบอกถึงการเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะสูง และมุ่งทำเพื่อส่วนรวม อย่างแท้จริง ไร้อคติไร้อัตตา ผมประทับใจและขอแสดงความนับถือครับ พันเอก อัชฌา บุญกระพือ

    ตอบลบ