วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การกำหนดอัตลักษณ์ “จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ของบัณฑิต

สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ครั้งก่อนผมทิ้งท้ายประเด็นจิตวิญญาณของบุคลากรสุขภาพที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ จึงอยากจะเสริมประเด็นนี้ต่อครับ หลังจากได้ไปเห็นการดำเนินงานของพี่น้องสาธารณสุขที่ขอนแก่นในการปลูกจิตสำนึกของนักศึกษาให้มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม



แม้ว่าเราจะมีนโยบายผลิตบุคลากรสุขภาพเพิ่มทุกปี โดยผ่านยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ปัญหาบุคลากรขาดแคลนและกระจายไม่ครอบคลุมก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ พื้นที่ไหนขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข ก็ยังขาดแคลนอยู่เช่นนั้น
อันที่จริง สถานศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ ทักษะชีวิต และเจตคติที่ดีมาช้านานแล้วนะครับ ทุกแห่งล้วนมุ่งหวังที่จะแทนที่คำว่า ‘resources’ ใน human resources ของระบบสุขภาพด้วยคำว่า ‘beings’
แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเกิดขึ้นเพียงบางส่วน พี่น้องสาธารณสุขที่ขอนแก่นจึงคิดใหม่ให้ครอบคลุม ดังเช่นโครงการ พยาบาลชุมชน ที่โรงพยาบาลน้ำพองและโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การสรรหาเด็กที่มีศักยภาพ ความตั้งใจ และทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ ร่วมกับคนในชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่นและสถาบันเครือข่าย การจัดหลักสูตรที่ให้ทั้งความรู้ในวิชาชีพและทักษะชีวิต และการจัดโครงสร้างการทำงานและระบบนิเวศในชุมชนที่เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพอย่างมีความสุขตามอัตภาพ
การกำหนดอัตลักษณ์ จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของบัณฑิตที่ชัดเจนเช่นนี้มีความสำคัญครับ เพราะมันช่วยวางกรอบการคัดเลือกบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการ ช่วยพัฒนาหลักสูตรที่จะแปลงภาพบัณฑิตในอุดมคติออกมาเป็นรูปธรรม และช่วยสร้างกลไกในพื้นที่ให้บัณฑิตเหล่านี้ปฏิบัติงานได้ยาวนาน
การสร้างความเชื่อมั่นแก่พวกเขาในสวัสดิการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ จึงต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตใจและการมีระบบเกื้อกูลฉันพี่น้อง กลไกการเงินมีความจำเป็นก็จริง แต่กลไกสำคัญต่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพคือการหล่อหลอมจิตใจพวกเขาให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพครับ
การกำหนดอัตลักษณ์ของบัณฑิตที่ชัดเจนข้างต้นยังช่วยวางกรอบการคัดเลือกผู้จะเป็นครูและการฝึกอบรมครูด้วย ครูไม่ได้สำคัญเพียงเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพเท่านั้น ครูที่ดียังต้องสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังอุดมคติ และสอนลูกศิษย์ให้ตระหนักในคุณค่าของวิชาชีพด้วย การเลือกคนดีมากกว่าคนเก่งมาเป็นอาจารย์จึงสำคัญไม่แพ้การเลือกคนดีมาเป็นบัณฑิต

การสอนนักศึกษาแพทย์ของสถาบันผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของศูนย์แพทย์ศึกษา โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ก็ยึดแนวทางนี้เช่นเดียวกันครับ เป็นที่น่ายินดีว่านักศึกษาแพทย์ถึงกว่าร้อยละ 80 ที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ยังทำงานอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
อนึ่ง ในการวางนโยบายสาธารณสุข ผม และ รมช.ได้นำความมุ่งหวังตั้งใจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จะเห็นสังคมไทยในยุคปฏิรูปมีความมั่นคงมาเป็นกรอบพิจารณาครับ

ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ เราเห็นพ้องว่าเราต้องเร่งคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอันดับแรก และวางรากฐานที่ยั่งยืนแก่ระบบสาธารณสุขไปพร้อมกัน
เราเห็นพ้องด้วยว่าปัญหาสาธารณสุขที่ประเทศเผชิญมาตลอดล้วนมีปัจจัยร่วมตัวเดียวกัน นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำ นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำเป็นสำคัญ

การจัดทีมหมอครอบครัวลงไปดูแลเชิงรุกถึงชุมชนอย่างเป็นองค์รวม เพื่อลดระยะห่างระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเสริมสร้างระบบสุขภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำของทุกกลุ่มวัยและกลุ่มประชากรในสังคมที่ชัดเจนครับ

แต่การทำงานของทีมหมอครอบครัวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยพลังจากทุกวิชาชีพและภาคส่วนของสังคม ปัญหาสุขภาพมีปัจจัยกำหนดทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย และอยู่นอกขอบเขตของกระทรวงสาธารณสุข การขับเคลื่อนจึงต้องอาศัยกำลังคนและเม็ดเงินจากหลายภาคส่วน

ผมจึงชื่นใจที่เห็นแนวทางการผลิตบุคลากรสายสุขภาพที่สถานศึกษาหลายแห่งดำเนินการอยู่นี้มีความสอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศของเรากำลังมุ่งไป อาทิ การจัดกิจกรรมให้นักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร สาธารณสุข ร่วมแก้ปัญหาชุมชน เพื่อฝึกการทำงานแบบ รวมมิตรไม่ใช่แบบขนมชั้น ฝึกการเชื่อมประสานกับภาคส่วนอื่นในชุมชนเพื่อสนธิพลังในการขับเคลื่อนงาน และฝึกการมองภาพเชิงระบบของงานสาธารณสุข
ทั้งหมดนี้จะทำให้พวกเขาไม่มืดแปดด้าน สับสน หรือใช้เวลาตั้งหลักอยู่นานเมื่อถึงคราวต้องลงสนามจริงครับ

หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยไม่เป็นสองรองใครเลยในเรื่องจำนวนและคุณภาพของสถาบันการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ ทั้งนี้เพราะบูรพาจารย์และคนรุ่นก่อนได้วางรากฐานโครงสร้างการผลิตกำลังคนไว้ดียิ่ง
การศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพจึงเป็นบทบาทหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งยังเป็นโมเดลแก่ภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

ในเมื่อเรามีต้นทุนและสินทรัพย์ล้ำค่าเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อไปจึงเป็นการเดินหน้าให้ต้นทุนเหล่านี้ผลิดอกออกผลเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ เพื่อให้เมืองไทยเป็นสังคมที่สมบูรณ์พูนสุข ร่วมเย็น และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยั่งยืน
เราก้าวล้ำนำหน้าหลายประเทศ ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า แต่ยังนำบริการสาธารณสุขลงไปไม่ถึงทุกครัวเรือน
เราเล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมที่น่าอยู่มานานแล้ว อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแกนนำเสนอต่อสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 66 ในปี พ.ศ. 2556 ให้ผ่านมติ ปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (อีกนัยหนึ่งคือเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียม) อีกด้วย

เราจึงมาถูกทางแล้วครับ หากเราเดินตามแนวทางนี้ ประเทศไทยจะมีบัณฑิตจำนวนมากที่มีความรู้ มีอุดมการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจแก่อนุชนรุ่นหลัง
ดังเช่นพี่น้องสาธารณสุขที่ผมได้พบปะในหลายพื้นที่ ผู้มองการลดความเหลื่อมล้ำ การหยิบยื่นโอกาสแก่ผู้ที่ขาด การช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคมให้พ้นวัฏจักรความยากจน เป็นความสุข ความอิ่มเอมใจ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต

ถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐมากครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น