วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

FCT สะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ




สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

ทีมหมอครอบครัว ซึ่งต่อจากนี้ผมขอเรียก FCT (Family Care Team) นะครับ เนื่องจากติดปากใครหลายคนแล้ว ถือเป็นสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ผ่านบริการปฐมภูมิที่กำลังทวีความสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันครับ ว่าบริการปฐมภูมิคือเสาหลักของการดูแลสุขภาวะประชาชนในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ FCT ในลักษณะที่เราดำเนินการก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าช่วยลดช่องว่างเชิงภูมิศาสตร์และเชิงสัมพันธภาพระหว่างประชาชนและผู้ดูแล ทั้งยังช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันและร่วมมือจริงจังในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ปัญหาสุขภาวะ อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน อุบัติเหตุ ตั้งครรภ์วัยรุ่น อุบัติเหตุการจราจร สามารถป้องกันหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หากทุกคนในชุมชนได้รับความรู้และเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การจัดสภาพแวดล้อมของสังคมที่เอื้อต่อสวัสดิภาพและปลอดอบายมุข
ยิ่งขณะนี้ที่เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเชิงประชากรศาสตร์ กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และเปลี่ยนผ่านเชิงระบาดวิทยา กล่าวคือ คนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีมากขึ้น ทั้งยังเจอภาวะทุพพลภาพหลากหลายในคนเดียว การป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ เรื่อยไปถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่อาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่าย ยิ่งมีความจำเป็น
ผมจึงขอชื่นชมพี่น้องชาวสาธารณสุขในทุกเขตที่ร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาได้ครอบคลุม โดยตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยกำหนดที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังจากภายในและภายนอกกระทรวง
หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมการดำเนินงานของ FCT ในหลายเขตสุขภาพมาแล้ว ผมขอชื่นชมพี่น้องทุกพื้นที่ที่สรรหาวิธีดำเนินการที่หลากหลายด้วยครับ บ้างนำเทคโนโลยีสื่อสารผ่านมือถือ เช่น LINE application มาใช้เพื่อความรวดเร็วและการเข้าถึงคนบางกลุ่ม อาทิ เด็กวัยรุ่น บ้างจัดหาพาหนะพิเศษเพื่อเข้าถึงจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร บ้างจัดตั้งธนาคารวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ร่วมกัน บ้างได้ผู้มีบารมีและเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน อาทิ โต๊ะอิหม่าม เจ้าอาวาสนำทีมเยี่ยมบ้าน


พื้นที่ที่มีความพิเศษก็คิดหารูปแบบพิเศษเพื่อให้การดูแลครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย อาทิ สร้างสุขศาลาในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ผลิตอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวเพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว จัดคลินิกลอยน้ำเพื่อดูแลสุขภาพชาวประมง
หลายพื้นที่พยายามวางระบบเชื่อมประสานให้ไร้รอยต่อระหว่างบ้านกับสถานบริการ ทั้งในยามส่งผู้ป่วยสู่สถานบริการระดับสูงขึ้นไป และยามจำหน่ายผู้ป่วยกลับคืนสู่ระบบการดูแลในชุมชน หรือแม้แต่จัดแพทย์เฉพาะทางมาตรวจรักษาในจุดที่การเดินทางเข้าเมืองมีความลำบาก รวมถึงให้คำแนะนำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์


ผมว่าคงจะดีไม่น้อยนะครับ หากเราจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เพื่อปรับกลไกการทำงานให้ปราดเปรียว ยืดหยุ่น ทันสมัย เป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของบริการปฐมภูมิและ FCT นี้




เรายังมีอีกหลายประเด็นคำถามทีเดียวครับ ในการพัฒนาบริการปฐมภูมิและFCT ให้ดียิ่งขึ้น อาทิ
§ องค์ประกอบและบทบาทหน้าที่ของ FCT ที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร เจ้าหน้าที่ควรมีทักษะจำเป็นอะไรบ้างสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม อันจะช่วยให้บุคลากรมีความสุขกับงานควรมีอะไรบ้าง
§ การทำหน้าที่ gatekeeper หรือนายทวาร ช่วยลดการรอคอยของผู้ป่วยและส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเพียงไร
§ การดูแลรูปแบบไหนลดอัตราการส่งต่อผู้ป่วย ระบบส่งต่อผู้ป่วยทั้งแบบปกติและฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพควรมีรูปแบบใดบ้าง
§ การจัดสรรเงินรูปแบบไหนช่วยให้การทำงานคล่องตัวแต่ละรูปแบบมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความเสมอภาคของบริการอย่างไร
อนึ่ง เมื่อนึกถึง FCT ภาพที่วาบเข้ามาในมโนทัศน์ของหลายท่านคงเป็นภาพ FCT ในชนบทและชุมชนเมืองตามต่างจังหวัดใช่ไหมครับ แท้ที่จริงแล้วFCT ปรากฏในมหานครด้วย รูปลักษณ์และความท้าทายของการบริหารจัดการFCT ในนครใหญ่มีความเหมือนและต่างจาก FCT ในชนบทอย่างไรผมจะกล่าวถึงในโอกาสเหมาะสมต่อไปครับ


ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น