วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน


สวัสดีพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่านครับ

จุดประสงค์ของการมี FCT (Family Care Team) คือการสร้างกลไกสัมผัสชุมชน เพิ่มการเข้าถึงของคนในชุมชนต่อบริการสุขภาพและดูแลเบื้องต้นในทุกภาวะโรคอย่างต่อเนื่อง เราโชคดีที่ในช่วงขวบปีแรกของการวางรากฐาน FCT ให้เป็นสะพานเชื่อมชุมชนสู่ระบบสุขภาพนั้น เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เพราะบริการปฐมภูมิของไทยได้วางรากฐานมาช้านาน ทั้งยังมีลักษณะเด่นที่น่าชื่นชม คือ มีจิตอาสาเป็นกำลังสำคัญแต่เราก็อยากเริ่มแบบช้าๆ ทว่ามั่นคง จึงเลือกให้ความสำคัญต่อกลุ่มเป้าหมายที่ควรใส่ใจเป็นลำดับต้นก่อนครับนั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุ


ดังที่ทราบกันดีครับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 แล้ว กล่าวคือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ต่อประชากรทั้งประเทศเกินร้อยละ 10 แต่ก็มีข้อน่ากังวล คือ อัตราการพึ่งพิงในวัยสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา อยู่ตามลำพัง และมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม พิการ และติดเตียง
ภารกิจเร่งด่วนจึงเป็นการจัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียงโดยฝึกอบรมผู้จัดการดูแล ผู้ดูแล ร่วมกับจัด FCT ออกตรวจเยี่ยมมุ่งหวังคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล


แต่การเตรียมแค่นั้นคงไม่พอครับ เพราะจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2557 ที่พบสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 15 และคาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งตามนิยามของสหประชาชาติถือเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เราคงต้องเตรียมความพร้อมมากกว่านี้
สมัยก่อนคนตะวันตกก็นิยมเลี้ยงดูคนเฒ่าคนแก่เอง แบบเดียวกับบ้านเราเมื่อไม่นานนี้ ตราบจนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่างคนต่างต้องออกไปทำมาหากิน วิถีดังกล่าวจึงเปลี่ยนไปในช่วงเวลานี้ที่ดัชนีผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก การดำเนินวิถีชีวิตในสังคมไทยจึงมีแนวโน้มค่อนไปทางสังคมตะวันตกมากขึ้น การดูแลโดยครอบครัวคงไม่ใช่รูปแบบเดียว แต่ต้องมีการดูแลโดยสถาบันและชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
กระนั้น เมื่อเหลียวมองรอบตัวขณะนี้เราจะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้สร้าง หรือวางแผน โดยมีผู้สูงอายุในวิสัยทัศน์เท่าที่ควรการศึกษาปัจจุบันก็มุ่งสอนทักษะสำหรับคนวัยทำงาน สวนสาธารณะในเมืองก็มีน้อยกว่าตึกระฟ้าถนนหนทางก็ไม่อำนวยความสะดวกต่อผู้ที่จะผละจากการขับรถมาเดินเท้า ระบบขนส่งมวลชนก็ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง

การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคตมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี ประกอบกิจการงานที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงในชีวิตจึงต้องรีบลงมือแต่บัดนี้ และไม่อาจทำสำเร็จโดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงลำพังด้วยครับแต่ต้องอาศัยการผนึกกำลังของหลายองค์กรทีเดียว
จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาดไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแรงงานจับมือร่วมกันในโครงการ รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจ ห่วงใยผู้สูงอายุนำร่องพัฒนารูปแบบในพื้นที่ 155 ตำบลใน 76 จังหวัด ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ผมเชื่อว่าภาพที่หลายคนพึงปรารถนาคงไม่ใช่ภาพผู้สูงอายุที่สุขภาพย่ำแย่ ประกอบกิจวัตรลำบากเอาแต่นั่งเฉย นอนเฉย ปล่อยให้เวลาล่วงเลย แต่เป็นภาพผู้สูงอายุที่ยังทำงานประจำ หรืองานอดิเรกที่ตัวเองรัก หยิบจับกิจกรรมที่อยากทำแต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน
เราอยากเห็นผู้สูงอายุที่สมองยังฉับไว กระฉับกระเฉง กำลังวังชายังปราดเปรียว มีเงินหล่อเลี้ยงกายใจตามอัตภาพ ผลิตงานเล็กงานใหญ่สู่สังคม

ผู้สูงอายุหลายคนมีทุนสังคมทุนปัญญามหาศาล พวกเขามีส่วนสำคัญในการชี้แนะ สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังได้ไม่น้อย
คงน่าเสียดายที่เราจะละเลยทุนมีค่านี้ให้ฝ่อลีบไป

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น